Taking too long? Close loading screen.

บริหารหนี้สาธารณะด้วยแบบจำลองวิเคราะห์ต้นทุนและความเสี่ยง

Oct 24, 2022

หนี้สาธารณะ (Public Debt) คืออะไร? การบริหารหนี้สาธารณะมีโครงสร้าง ขั้นตอน และสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างไร? ในบทความนี้ เรามาดูตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Data Science กับการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อให้ภาครัฐรักษาเสถียรภาพทางการคลังกันครับ 🙂

“หนี้สาธารณะ” คืออะไร?

รัฐบาลของทุก ๆ ประเทศมีหน้าที่ในการบริหารจัดการงบประมาณภายในประเทศเพื่อพัฒนาประเทศ ตั้งแต่การสร้างถนนและระบบคมนาคม การเยียวยาผู้ประสบปัญหาภัยพิบัติ การส่งเสริมการศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น

รัฐบาลหนึ่ง ๆ มี “รายได้” เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศได้อย่างไร? คำตอบคือ การเก็บภาษีนั่นเอง ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลมีการจัดเก็บภาษีเงินได้, ภาษีหัก​ ณ​ ที่จ่าย, ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปจนถึงภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากนานาประเทศทั่วโลกนัก ซึ่งรัฐบาลจะนำรายได้เหล่านี้มาจัดสรรเป็นงบประมาณเพื่อใช้ในด้านต่าง ๆ

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (แหล่งข้อมูลจากระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ)

หากรัฐบาลหนึ่ง ๆ มีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับรายจ่ายเพื่อการพัฒนาประเทศในแต่ละปี รัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินให้เพียงพอต่อความต้องการ ไม่ต่างจากการที่บุคคลธรรมดาอาจจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อตอบสนองความต้องการในการซื้อบ้านหรือลงทุนในธุรกิจ ซึ่งในบริบทของรัฐบาล ปริมาณวงเงินกู้ที่รัฐบาลมีความต้องการในแต่ละปีงบประมาณ มีชื่อเรียกว่า ความต้องการเงินทุน (Funding Need) และการกู้ยืมเงินตาม Funding Need นี้เองที่ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะ

ทำความรู้จักกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (Public Debt Management Office)

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง มีภาระหน้าที่ในการบริหารโครงสร้างหนี้ภายในประเทศ รักษาเสถียรภาพทางการคลังแก่ภาครัฐโดยการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ตามวงเงินกู้ที่ต้องการ เพื่อบริหารค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งนี้ สบน. ทำการบริหารหนี้ด้วยกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium-Term Debt Management Strategy: MTDS) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสากลตามข้อแนะนำของธนาคารโลก (World Bank) ในการบริหารต้นทุนและความเสี่ยงของหนี้ โดยมีการจัดการความเสี่ยงของหนี้ใน 3 ด้าน คือ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้

เพื่อความชัดเจนในบทความนี้ “หนี้สาธารณะ” ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สบน. หมายถึง หนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจกู้ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยกระทรวงการคลัง มิได้ค้ำประกัน (คำนิยามจากเว็บไซต์ของสบน.)

ความท้าทายของการบริหารหนี้สาธารณะ

เนื่องจากผู้บริหารหนี้จำเป็นต้องตัดสินใจวางแผนกลยุทธ์การออกตราสารหนี้ใหม่ ณ ปัจจุบัน โดยไม่สามารถล่วงรู้ถึงข้อมูลของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคในอนาคตได้ ทำให้การวางกลยุทธ์การบริหารหนี้มีความไม่แน่นอน ทำให้ สบน. จำเป็นต้องมีการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (models) เพื่อช่วยจำลองสถานการณ์ในอนาคตจากสมมติฐานในกรณีต่าง ๆ ผนวกกับหลักการทางสถิติเพื่อให้ผู้บริหารหนี้สามารถวางแผนตัดสินใจถึงชนิด (instrument type), ช่วงเวลา (timing), ช่วงอายุหนี้ (maturity), อัตราดอกเบี้ยและชนิดดอกเบี้ย (coupon), และปริมาณการกู้เงิน (issuance amount) ที่เหมาะสมบนความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้

ผู้บริหารหนี้จำเป็นต้องวางแผนกลยุทธ์การออกตราสารหนี้ใหม่โดยไม่สามารถล่วงรู้ถึงข้อมูลของอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคในอนาคตได้ การวางกลยุทธ์การบริหารหนี้บนความไม่แน่นอนนี้ จึงจำเป็นจะต้องมีการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (models) เพื่อช่วยจำลองสถานการณ์ในอนาคตจากสมมติฐานในกรณีต่าง ๆ ผนวกกับหลักการทางสถิติเพื่อให้ผู้บริหารหนี้สามารถวางแผนตัดสินใจบนความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สบน. มีการใช้แบบจำลองการวิเคราะห์ต้นทุนและความเสี่ยง (cost-risk analysis) และวางแผนกลยุทธ์การบริหารหนี้ (debt management strategy) ที่มีลักษณะเป็น “กล่องดำ” (“black box”) เนื่องจากเป็นแบบจำลองที่ถูกพัฒนาโดยหน่วยงานภายนอก ทำให้เจ้าหน้าที่ สบน. ไม่สามารถปรับแต่งรูปแบบการจำลองหรือตรวจสอบความถูกต้องของผลลัพธ์ได้ ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวเป็นความท้าทายต่อ สบน. ในการบริหารหนี้ให้มีต้นทุนที่ต่ำบนระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้อย่างยั่งยืน

เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาส ด้วยการพัฒนา In-House Risk Model

ความต้องการแบบจำลองใหม่ที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการของ สบน. และพัฒนาโดยเจ้าหน้าที่ของ สบน. เองเพื่อความยั่งยืนในการใช้งานและปรับปรุงแบบจำลอง จึงนำมาสู่ความร่วมมือระหว่าง สบน. และธนาคารโลก ภายใต้โครงการจ้างที่ปรึกษาสำหรับการพัฒนาแบบจำลองการบริหารความเสี่ยงหนี้สาธารณะเพื่อใช้ในสำนักงาน (in-house risk model) โดยมีที่ปรึกษาจากสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิค (technical consultant) ร่วมกับธนาคารโลก เพื่อให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนาแบบจำลองของ สบน. ตามขอบเขตการดำเนินการและข้อตกลงระหว่าง สบน. ธนาคารโลก และ สวข.

องค์ประกอบของแบบจำลองการบริหารความเสี่ยง

ภายใต้ความร่วมมือข้างต้น สวข. ได้ให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนาแบบจำลองการบริหารความเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่ สบน. ภายใต้แนวทางและคำปรึกษาจากธนาคารโลก โดยมีผลลัพธ์ตามองค์ประกอบ คือ

  1. แบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ต้นทุนและความเสี่ยง (cost-risk model) สำหรับการคำนวณประมาณการกระแสเงินสดเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ (cashflows) และกำหนดการไถ่ถอนของตราสารหนี้ (redemption profiles) (ต้นเงินกู้) ในอนาคต โดยสามารถเปรียบเทียบผลลัพธ์ของแนวโน้มกระแสเงินสดระหว่างกลยุทธ์การบริหารหนี้ด้วยการออกตราสารหนี้ใหม่ (issuance strategy) หลายรูปแบบ กล่าวคือ กำหนดสัดส่วน, ชนิดเครื่องมือระดมทุนที่มีอัตราดอกเบี้ย, อายุ และสกุลเงินที่แตกต่างกัน บนสถานการณ์ความเสี่ยง (risk scenarios) ต่าง ๆ ได้
  2. แบบจำลองสถานการณ์อัตราตลาด (market rate models) ในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย การจำลองแนวโน้มเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve), แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย (interest rates), และแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน (exchange rates) ซึ่งช่วยสนับสนุน cost-risk model ในการวิเคราะห์ทั้งแบบกำหนดได้และแบบสุ่ม (deterministic and stochastic analyses)
  3. เครื่องมือการคำนวณตัวชี้วัดความเสี่ยง (risk indicators) ของหนี้ที่อยู่ในการบริหารดูแล (debt portfolio) เพื่อใช้ในการจัดทำรายงานเพื่อติดตามระดับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
  4. เครื่องมือการบริหารจัดการข้อมูล (data management) และเครื่องมือการตระเตรียมและแปรรูปข้อมูล (data preprocessing) ทั้งสำหรับข้อมูลสำหรับการดำเนินงานจริง (production data) และข้อมูลสำหรับการทดสอบระบบ (test data)
  5. การวิเคราะห์ความเสี่ยงของภาระผูกพันทางการคลัง (contingent liability) จากการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ (State-Owned Enterprise: SOEs) และการดำเนินการรูปแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPPs)

ในบทความนี้ เราจะเน้นรายละเอียดส่วนที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงสำหรับการบริหารหนี้สาธารณะในสามองค์ประกอบแรก โดยมีรายละเอียดดังนี้

แบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ต้นทุนและความเสี่ยง (Cost-Risk Model)

แบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ต้นทุนและความเสี่ยง (cost-risk model) เป็นแบบจำลองตามหลักการ MTDS ซึ่งใช้ในการวางกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะในระยะปานกลาง โดยประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญภายในแบบจำลองดังนี้

องค์ประกอบที่หนึ่ง คือ แบบจำลองกลยุทธ์การออกตราสารหนี้ (issuance strategy) ซึ่งมีข้อมูลนำเข้าเป็นกลยุทธ์การออกตราสารหนี้ที่ผู้บริหารหนี้ (debt manager) ต้องการเปรียบเทียบ ยกตัวอย่าง เช่น กลยุทธ์ A เน้นการออกตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และกลยุทธ์ B เน้นการออกตราสารหนี้ระยะยาวด้วยสกุลเงินในประเทศ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า เป็นต้น โดยแบบจำลองนี้สามารถทำงานร่วมกับแบบจำลองสถานการณ์อัตราตลาด (market rate models) เพื่อทดสอบกลยุทธ์การออกตราสารหนี้ใหม่ภายใต้สถานการณ์หลาย ๆ สถานการณ์ (scenarios) และผนวกกลยุทธ์กับสถานการณ์ที่กำหนด สู่การคำนวณต้นทุนและความเสี่ยง ในแบบจำลองถัดไป

องค์ประกอบที่สอง คือ แบบจำลองการคำนวณแนวโน้มกระแสเงินสดเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ (cashflows) และกำหนดการไถ่ถอนของตราสารหนี้ (redemption profiles) (ต้นเงินกู้) ในอนาคต เป็นแบบจำลองที่นำเข้าข้อมูลกลยุทธ์การออกตราสารหนี้ใหม่ (issuance strategy), ดุลการคลังขั้นต้น (primary deficit), และหนี้ที่อยู่ในการบริหารดูแล (debt portfolio) ในปัจจุบันที่รัฐบาลมีภาระการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น เพื่อให้ผู้บริหารหนี้สามารถคาดการณ์แนวโน้มของ portfolio หนี้สาธารณะ เช่น วิเคราะห์ว่าภายใน 10 – 20 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะต้องแบกรับภาระการชำระหนี้เท่าใด, ต้นทุนที่จำเป็นต้องชำระ (coupon payments) มีปริมาณสูงเท่าใดและกระจายตัวอยู่ในปีงบประมาณใด, และมีความเสี่ยงที่ต้นทุนของการกู้เงินจะมีปริมาณสูงกว่าที่คาดเนื่องจากสถานการณ์วิกฤติ (shock scenarios) หรือไม่ อย่างไร

ผลลัพธ์ของ cashflows และ redemption profiles สำหรับกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน จะทำให้ผู้บริหารหนี้สามารถใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ที่มีต้นทุนของการกู้เงินและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ภายใต้สถานการณ์และปัจจัยภายนอกทั้งในกรณีฐานและกรณีวิกฤติ ทั้งนี้ แบบจำลองส่วนนี้จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาลักษณะการทำงานของตราสารหนี้แต่ละชนิดออกมาในรูปแบบของคลาส (classes) ในภาษา Python ที่แตกต่างกัน ดังนี้:

  1. พันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ (bond)
  2. พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น หรือ ตั๋วเงินคลัง (treasury bill)
  3. พันธบัตรรัฐบาลประเภททยอยชำระคืนเงินต้น (amortized bond)
  4. พันธบัตรรัฐบาลที่จ่ายดอกเบี้ยเป็นแบบขั้นบันได (step up bond)
  5. พันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (variable rate bond)
  6. พันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (inflation-linked bond)

แบบจำลองสถานการณ์อัตราตลาด (Market Rate Models)

แบบจำลองสถานการณ์อัตราตลาด (market rate models) เป็นแบบจำลองที่อธิบายแนวโน้มของอัตราตลาดต่าง ๆ อันได้แก่ อัตราผลตอบแทนสำหรับเส้นอัตราผลตอบแทนแบบไร้ความเสี่ยงของตราสารหนี้แบบไม่จ่ายคูปอง (zero coupon yield curve), อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (variable interest rates), และอัตราแลกเปลี่ยน (exchange rates) เพื่อใช้สำหรับการจำลองอนาคตของสถานการณ์อัตราตลาด เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์สถานการณ์การบริหารหนี้ทั้งแบบกำหนดได้และแบบสุ่ม (deterministic and stochastic analyses)

เนื่องจากแบบจำลองกลยุทธ์การออกตราสารหนี้ (issuance strategy) ดังที่ได้กล่าวข้างต้น จำเป็นต้องมีการใช้ข้อมูลอัตราตลาดในอนาคต แต่การทำนายอนาคตมีความไม่แน่นอน (uncertainty) ทำให้แบบจำลองสถานการณ์อัตราตลาด (market rate models) ถูกออกแบบมาโดยไม่ได้เน้นความแม่นยำของการทำนายค่า หากแต่เน้นให้ความสำคัญมากกว่ากับการคาดการณ์ทิศทางที่เป็นไปได้ของตลาดเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารหนี้ โดยอัตราตลาดที่ถูกจำลองขึ้นจะส่งผลต่อการคำนวณภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องชำระคืน (coupon payments) โดยอัตราแต่ละตัวจะส่งผลต่อพันธบัตรต่างชนิดกันไป และส่งผลต่ออัตราผลตอบแทน (coupon) สำหรับตราสารหนี้ที่ออกใหม่เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระหนี้เดิม (rollover) ที่ปรึกษา สวข. ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ สบน. ในการพัฒนาและใช้งานแบบจำลองการวิเคราะห์อนุกรมเวลา (time series analysis) ด้วยโมเดลที่เฉพาะเจาะจงกับบริบทของ สบน.

เครื่องมือการคำนวณตัวชี้วัดความเสี่ยง (Risk Indicators)

เครื่องมือการคำนวณตัวชี้วัดความเสี่ยง (risk indicators) ของหนี้ที่อยู่ในการบริหารดูแล (debt portfolio) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินสถานะความเสี่ยงของ portfolio ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตภายในสถานการณ์จำลองและกลยุทธ์การออกตราสารหนี้ที่ผู้บริหารหนี้กำลังทำการเปรียบเทียบระหว่างกลยุทธ์ปัจจุบันกับกลยุทธ์ทางเลือก

ที่ปรึกษา สวข. ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ สบน. ในการพัฒนาตัวชี้วัดความเสี่ยง เช่น สัดส่วนหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายในเวลาที่กำหนด (debt share maturing), สัดส่วนหนี้ประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ (fixed rate debt ratio), อายุเฉลี่ยของหนี้ (Average Time to Maturity: ATM) แบบถ่วงน้ำหนัก เป็นต้น (ผู้อ่านที่สนใจสามารถศึกษาตัวชี้วัดความเสี่ยงเพิ่มเติมได้ในตัวอย่างรายงานประจำปีของ สบน.)

จากแบบจำลองสู่ผลสัมฤทธิ์

ความต้องการแบบจำลองใหม่ที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการของ สบน. และพัฒนาโดยเจ้าหน้าที่ของ สบน. เองเพื่อความยั่งยืนในการใช้งานและปรับปรุงแบบจำลอง ได้นำมาสู่ความร่วมมือในโครงการนี้ และถึงแม้ในระหว่างการดำเนินงานจะมีความท้าทายอยู่หลายประการ ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การพบปะเพื่อให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนาจำเป็นต้องดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด และเส้นทางการเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ที่ค่อนข้างชัน (steep learning curve) ของเจ้าหน้าที่ สบน. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารหนี้สาธารณะ แต่จำเป็นต้องเริ่มเรียนรู้ทักษะด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (computer science) และวิทยาการข้อมูล (data science) ในการพัฒนาแบบจำลองโดยเจ้าหนี้ สบน. เอง แต่เมื่อผนวกความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจาก สวข. และธนาคารโลก ทำให้แบบจำลองดังกล่าวได้รับการพัฒนาจนใกล้เคียงความสมบูรณ์ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้เริ่มนำแบบจำลองดังกล่าวไปใช้จริงตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 โดยในช่วง 6 เดือนแรกเป็นการใช้งานแบบจำลองในลักษณะคู่ขนานกับแบบจำลองเดิมเพื่อให้มั่นใจในผลลัพธ์

ที่ปรึกษา สวข. ดำเนินการให้คำปรึกษาและให้การสนับสนุนในการพัฒนาแบบจำลองการบริหารความเสี่ยงหนี้สาธารณะได้เสร็จสิ้นครบทุกเป้าประสงค์ และมีความยินดีที่ได้ให้การสนับสนุนและพัฒนาแบบจำลองการบริหารความเสี่ยงหนี้สาธารณะไปสู่การใช้งานจริงภายในสำนักงาน สบน.

(ซ้าย) ปพจน์ ธรรมเจริญพร Project Manager และ Lead Technical Consultant จาก สวข.

(ขวา) ณัฐพัชร์ เศรษฐเสถียร Lead Technical Consultant จาก สวข.

เนื้อหาโดย ปพจน์ ธรรมเจริญพร

ตรวจทานและปรับปรุงโดย อิสระพงศ์ เอกสินชล

Papoj Thamjaroenporn

Editor-in-Chief at BigData.go.th and Senior Data Scientist at GBDi

Isarapong Eksinchol, PhD

Data Scientist Government Big Data Institute (GBDi)

Sign up to join Big Data Community Thailand

Make comments, write articles, and contribute to our community.