Taking too long? Close loading screen.

Quantum AI: อนาคตของ AI ในยุคหน้า

Aug 31, 2022
An artist's illustration of a quantum computer
ภาพศิลปะแสดงเครื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์
(ที่มา: Shutterstock/Bartlomiej K. Wroblewski)

การประมวลผลเชิงควอนตัม (Quantum Computing) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นเทคโนโลยีที่จะมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตอย่างมหาศาล การมีเทคโนโลยี Quantum Computing นั้นเป็นเครื่องมือที่จะช่วยนำพาให้เทคโนโลยี AI มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ถึงแม้ว่า AI บนแอปพลิเคชันต่างๆ จะถูกพัฒนาให้ประมวลผลได้บนคอมพิวเตอร์แบบคลาสสิก (Classical Computer) แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของความสามารถในการประมวลผล ด้วยเหตุดังกล่าว Quantum Computing จึงเป็นทางออกของการพัฒนาเทคโนโลยีในวงการ AI ให้สามารถสร้างแอปพลิเคชันที่มีความสลับซับซ้อนหรือสามารถทำงานที่ต้องการการประมวลผลจำนวนมากได้ เราเรียกศาสตร์นี้ว่า Quantum AI

Quantum AI คืออะไร

Quantum AI คือการประยุกต์ใช้ Quantum Computing สำหรับการประมวลผล หรือการคำนวณด้วยอัลกอริทึม Machine Learning โดยจะเป็นสิ่งที่จะมาช่วยให้การทำงานบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบทั่วไป (Classical Computer) สามารถเกิดขึ้นได้จริง

An artist illustration of how quantum AI relates to human brain
ที่มา: Quantum AI And Quantum Brain — The Evolution Of Future Tech | by Albert Christopher | Medium

ทำความรู้จักกับ Quantum Computing

Quantum Computing เป็นการประมวลผลรูปแบบหนึ่ง มีนิยามในลักษณะเดียวกันกับการประมวลผลรูปแบบอื่น ๆ ตัวอย่างที่เรามักเคยได้ยินกันบ่อย ๆ เช่น Cloud Computing ซึ่งก็คือการประมวลผลที่อยู่บนคลาวด์ หรือ Mobile Computing ก็จะหมายถึงการประมวลผลที่อยู่บนมือถือหรืออุปกรณ์พกพาต่าง ๆ

ในทำนองเดียวกัน Quantum Computing ก็คือการคำนวณหรือการประมวลผลต่าง ๆ ที่จะถูกทำโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ควอนตัม ซึ่งทำงานแตกต่างออกไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์แบบคลาสสิก (Classical Computer) ที่เราใช้งานกันโดยทั่วไป ที่ผ่านมานักวิจัยได้พิสูจน์แล้วว่าการประยุกต์ใช้ Quantum Computing ในงานบางประเภทสามารถทำได้ดีกว่าการประมวลผลแบบ Classical Computing อย่างมาก เช่น งานการแยกตัวประกอบของเลขจำนวนเต็มที่มีขนาดใหญ่ เป็นต้น

การประมวลผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop), บนอุปกรณ์เคลื่อนที่, หรือแม้กระทั่งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง (High Performance Computer: HPC) ล้วนแต่ทำงานบนพื้นฐานการคำนวณแบบคลาสสิก (Classical Computation) ทั้งสิ้น โดยการประมวลผลแบบคลาสสิกจะอาศัยหน่วยการประมวลที่เรียกว่า บิต (bit) ซึ่งมีสถานะที่สามารถสังเกตได้เป็น 0 หรือ 1 อันเป็นตัวแทนของข้อมูลที่เกิดขึ้นจากสัญญาณเปิด-ปิดทางไฟฟ้า ส่วนในกรณีของควอนตัมคอมพิวเตอร์จะมีรูปแบบการประมวลผลผ่านการแทนข้อมูลด้วยสถานะของอะตอม ซึ่งหน่วยข้อมูลที่ใช้ในการประมวลผลของควอนตัมคอมพิวเตอร์จะถูกเรียกว่า คิวบิต (Qubits) หรือมาจาก Quantum Bit นั่นเอง

comparison between classical computer's bits and quantum bits
เปรียบเทียบสถานะของ Bit ใน Classical Computer และ Qbit ใน Quantum Computer
(ที่มา: Shutterstock/Astibuag)

ด้วยคุณสมบัติพิเศษตามหลักกลศาสตร์ควอนตัมนั้น ทำให้การประมวลผลด้วย Qubits ใน Quantum Computer มีจุดเด่นที่เหนือกว่า Classical Computer ใน 2 คุณสมบัติหลัก ได้แก่ การที่คิวบิตสามารถมีสถานะระหว่างการคำนวณได้มากกว่า 1 สถานะในเวลาเดียวกัน (แทนที่จะเป็น 0 หรือ 1 อย่างใดอย่างหนึ่งแบบ Classical Computing) และ การที่คิวบิตสามารถเกิดการพัวพันกันได้ (Entanglement) นอกจากนี้ก็ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ทำให้นักวิจัยสามารถออกแบบและพัฒนา Quantum Algorithm ที่ช่วยให้การแก้ปัญหาในโจทย์ที่ยากสามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้นได้

โดยธรรมชาติแล้ว Qubits จะเก็บข้อมูลในรูปแบบของความน่าจะเป็น แต่เราก็สามารถดำเนินการวัดผลเพื่อให้ได้ค่าที่แสดงถึงสถานะใดสถานะหนึ่งเหมือนในการคำนวณแบบคลาสสิกได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการทำ Operation ต่าง ๆ ในเชิงควอนตัมจะถูกดำเนินการก่อนการวัดผลเสมอ เนื่องจากการที่เราทำการวัดผลในแต่ละครั้งจะไปทำให้ผลลัพธ์ในเชิงความน่าจะเป็นถูกทำลายไป และได้ออกมาเป็นค่าใดค่าหนึ่งเท่านั้น ในทุกวันนี้การพัฒนางานวิจัยด้าน Quantum Computing เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังคงมีความท้าทายอยู่อีกมากมาย ที่ผ่านมา Quantum Computer ได้รับการพัฒนาออกมาในหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็ได้มีการประยุกต์ใช้ Qubits ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

Quantum AI ทำงานอย่างไร

tensorflow can be used in quantum computing algorithm
ที่มา: Google AI Blog: Announcing TensorFlow Quantum: An Open Source Library for Quantum Machine Learning (googleblog.com)

ล่าสุด Google ได้เปิดตัว TensorFlow Quantum (TFQ) ไปซึ่งเป็นไลบรารี Open-source สำหรับ Quantum Machine Learning โดยเฉพาะ จุดมุ่งหมายหลักของ TFQ คือการให้บริการเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับควบคุมและสร้างโมเดล Machine Learning บนระบบควอนตัม โดยมีขั้นตอนในการพัฒนาและฝึกฝนโมเดลเชิงควอนตัมผ่านการใช้งาน TensorFlow Quantum ดังนี้ต่อไปนี้

tensor flow quantum to be illustrated in diagram
ที่มา: In-Depth Guide to Quantum Artificial Intelligence in 2022 (aimultiple.com)
  1. การสร้าง Quantum Dataset: Quantum Data สามารถถูกแสดงในรูปแบบของ Multi-dimensional Array ของตัวเลข ซึ่งจะถูกเรียกว่า Quantum Tensor โดย TensorFlow จะประมวลผล Tensor เหล่านี้เพื่อนำไปใช้สร้างชุดข้อมูลสำหรับการประมวลผลต่อไป
  2. เลือก Quantum Neural Network Models: โมเดลโครงข่ายประสามเทียมเชิงควอนตัมจะถูกเลือกตามโครงสร้างข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์ในการประมวลผลเชิงควอนตัมเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ซ่อนอยู่ภายใต้สถานะพัวพัน (Entangled State)
  3. การสุ่มหรือเฉลี่ยผลลัพธ์: การวัดหรืออ่านค่าสถานะเชิงควอนตัม (Quantum State) เป็นการสกัดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลในรูปแบบทั่วไป (Classical Information) โดยวิธีการสุ่มค่าจากการกระจายตัว (Distribution) ของค่าสถานะควอนตัม
  4. ซึ่งไลบรารี TQF ได้มีการสร้าง Method สำหรับเฉลี่ยผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลในขั้นตอนที่ 1 และ 2 หลาย ๆ ครั้งไว้ให้ด้วยเช่นกัน
  5. การประเมินผล Classical Neural Networks Model: เนื่องจากข้อมูลเชิงควอนตัม (Quantum Data) นั้นได้ถูกแปลงเป็นข้อมูลข้อมูลรูปแบบทั่วไปแล้ว (Classical Data) เทคนิค Deep Learning จะถูกใช้ในการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล ณ ขั้นตอนนี้

ขั้นตอนอื่นถัดไปจะเป็นการประเมินค่า Cost Function ผ่านการคำนวณค่า Gradient และ การปรับค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนลักษณะเดียวกันกับการทำ Deep Learning รูปแบบทั่วไป เพื่อให้ได้โมเดลที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการใช้งาน

ความเป็นไปได้ของการประมวลผลเชิงควอนตัมในงานด้าน AI

เป้าหมายขั้นต้นของนักพัฒนาสาย Quantum AI คือการพัฒนาอัลกอริทึมเชิงควอนตัมให้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าอัลกอริทึมสำหรับคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิม ตัวอย่างอัลกอริทึมที่มีการพัฒนา ได้แก่

  • Quantum Algorithm for Learning: การพัฒนาอัลกอริทึมเชิงควอนตัมสำหรับ Classical Learning Model จะสามารถช่วยเพิ่มความเร็วและการปรับปรุงในด้านอื่น ของกระบวนการฝึกฝน Deep Learning นอกจากนี้การประยุกต์ใช้ Quantum Computing สำหรับงาน Machine Learning สามารถทำให้บรรลุผลลัพธ์ในการหาเซ็ตของพารามิเตอร์ที่ดีที่สุด (Optimal Solution) ของ Artificial Neural Network ได้อย่างรวดเร็ว
  • Quantum Algorithm for Decision Problems: ปัญหาการตัดสินใจแบบคลาสสิกนั้นสามารถสร้างขึ้นในรูปแบบของแผนภูมิต้นไม้ แต่สำหรับปัญหาบางอย่างที่มีความซับซ้อนมาก ทำให้การแตกแขนงของต้นไม้ตัดสินใจแยกเป็นหลายเงื่อนไข ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของการค้นหาผลลัพธ์ลดลง อัลกอริทึมเชิงควอนตัมจะสามารถเข้ามาช่วยให้การประมวลผลการตัดสินใจในรูปแบบต้นไม้ตัดสินใจที่มีความซับซ้อนดังกล่าวสามารถทำได้เร็วขึ้น

สรุป

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีทางด้าน AI จะก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะข้อจำกัดทางเทคโนโลยีหลายอย่างได้ แต่ด้วยคุณลักษณะเฉพาะของการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัม อุปสรรคต่าง ๆ เพื่อไปถึง Artificial General Intelligence หรือ AI ที่มีความฉลาดที่ใกล้เคียงกับมนุษย์นั้นจะหมดไป เทคโนโลยี Quantum Computing สามารถใช้ในการฝึกฝนโมเดล Machine Learning ได้อย่างรวดเร็วและสามารถสร้าง Optimized Algorithm ผ่านการคำนวณเชิงควอนตัม ทำให้การวิเคราะห์ที่ใช้เวลาหลายปีให้เสร็จภายในเวลาอันสั้น ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยเหตุนี้ Quantum AI จึงเป็นหนึ่งในทางออกที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับ AI ในยุคหน้า

ที่มา:

In-Depth Guide to Quantum Artificial Intelligence in 2022 (aimultiple.com)

State of Quantum Computing in 2022 EOY for Business Leaders (aimultiple.com)

Overview of Quantum AI | Engineering Education (EngEd) Program | Section

Kanyawee Pornsawangdee

Data Scientist Government Big Data institute (GBDi)

Peeradon Samasiri, PhD

Project Manager and Senior Data Scientist at Government Big Data Institute (GBDi)

Sign up to join Big Data Community Thailand

Make comments, write articles, and contribute to our community.