Taking too long? Close loading screen.

ค้นหาเวลาและสถานที่ที่ดีที่สุด เพิ่มโอกาสพบทางช้างเผือก ด้วยข้อมูล

Feb 10, 2022

ในคืนที่ฟ้ามืดไร้เมฆและปราศจากแสงรบกวน เราจะมองเห็นแถบฝ้าสีขาวคล้ายเมฆพาดยาวข้ามขอบฟ้า ไม่ว่าลมจะพัดแรงเพียงใดแถบฝ้าขาวก็ยังคงอยู่ เราเรียกแถบฝ้าสว่างนี้ว่า “ทางช้างเผือก” หรือ “ทางน้ำนม” (Milky way)

ในฐานะที่ผมและคุณผู้อ่าน ต่างก็เป็นคนที่เล่นสนุกกับข้อมูล และผมก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านไม่น้อยที่ฝันจะได้เห็นทางช้างเผือกผ่านสายตาของตัวเองสักครั้ง ดังนั้นในบทความนี้ก็จะขอออกนอกจากแนวทางเดิม ๆ แล้วมาลองใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อมาเพิ่มโอกาสพบทางช้างเผือกด้วยตาตนเองกันนะครับ

สำหรับการตามหาทางช้างเผือก สิ่งที่ข้อมูลสามารถช่วยหาคำตอบได้มีอยู่สองส่วน

สถานที่ใดที่จะสามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้ดีที่สุด (Where should you go to see the Milky Way?)

ในการหาคำตอบในเรื่องนี้เราก็ต้องทำการค้นหาสถานที่ท้องฟ้ามืดที่สุดหรือสถานที่ที่ไม่ถูกรบกวนจากมลภาวะทางแสง (Light pollution) หรือแสงที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ในเวลากลางคืนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสังเกตุท้องฟ้ายาวค่ำคืน ดังแสดงในภาพที่ 1

ภาพที่ 1 ค่าความมืดของท้องฟ้า (Bortle Scale)  (ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก The International Dark-Sky Association (IDA))

โดยเครื่องมือที่เราจะใช้ในการตอบเรื่องนี้ เราจะใช้ชุดข้อมูลจากเซ็นเซอร์ VIIRS Stray Light Corrected Nighttime Day/Night Band Composite ซึ่งเป็นของภาพถ่ายของแสงในช่วงคลื่นที่มองเห็นได้ (Visible band) และอินฟราเรตใกล้ (Near infrared) ในเวลากลางคืน ที่อยู่บนดาวเทียม Suomi NPP ของ NASA ซึ่งสามารถเข้าใช้งานผ่าน Google Earth Engine (GEE) ได้ง่าย ๆ (ขั้นตอนการสมัครเคยเขียนไว้แล้วในบทความนี้นะครับ Link)

โดยทุกท่านสามารถเข้าลองเล่นกับข้อมูลนี้ผ่าน Link ที่ผมได้เตรียมไว้ให้นะครับ โดยผลลัพธ์ที่ได้จะแสดงดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 ตัวอย่างข้อมูลความสว่าง (Radiance) จากชุดข้อมูล VIIRS ในปี 2021 บริเวณประเทศไทย

จากภาพจะเห็นได้ว่า มลภาวะทางแสงที่เกิดขึ้นก็จะอยู่ในบริเวณเมืองใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น (กรุงเทพฯและปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ อุบลราชธานี ฯลฯ ของเพื่อนบ้านก็เช่น นครโฮจิมิน ประเทศเวียดนาม เป็นต้น) ดังนั้นสิ่งที่ง่ายที่สุดในการเพิ่มโอกาสในการตามล่าช้างก็คือ “หนีเมือง” ออกไปยังจุดสีดำในแผนที่นี้นะครับ

โดยในที่นี้ผมก็ขอยกตัวอย่างดอยหลวงเชียงดาวที่พิกัด (19.398518, 98.889519) เมื่อเราตัดสินใจได้แล้วว่าเราจะไปยังที่ใดแล้ว ก็นำไปสู่คำถามถัดไป คือ

ช่วงเวลาใดที่ทางช้างเผือกจะปรากฏมาให้เราเห็น (When can we expect to see the Milky Way?)

ในเรื่องนี้จะมี PyEphem ซึ่งเป็น Python Library ที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการคำนวณตำแหน่งของดาวเคราะห์ ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย รวมไปถึงดาวเทียมต่าง ๆ ที่โคจรอยู่รอบโลก

ทุกท่านสามารถเข้าไปศึกษาการใช้งานผ่านทาง Link นี้ได้เลยนะครับ โดยในตัวอย่างนี้จะเป็นการค้นหาโอกาสในการพบเห็นทางช้างเผือกที่ดีที่สุด สมมุติฐานที่ใช้ก็คือกึ่งกลางของทางช้างเผือก (ตัวแปรชื่อ milkyway_visual ในโค้ด) อยู่สูงจากเส้นขอบฟ้าอย่างน้อย 10 องศาจากจุดสังเกต และช่วงเวลาที่มืดที่สุดที่ใช้หาทางช้างเผือกที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงหลังจากพระอาทิตย์ตก (ตัวแปร astrosunset) และพระจันทร์ลับขอบฟ้า จนถึงพระอาทิตย์ขึ้น (ตัวแปร sunrise) ซึ่งเราได้ลองกำหนดบริเวณพื้นที่เป็น ดอยหลวงเชียงดาว ในปี 2022 และให้โค้ดของเราหาคืนที่เหมาะสมตามเงื่อนไขที่กล่าวมาจะได้ผลลัพธ์ดังนี้

โอกาสในการพบเห็นทางช้างเผือกจากดอยหลวงเชียงดาวที่ดีที่สุด คือ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2022 เวลาประมาณ 19.14 นาฬิกา (UTC+07:00 ให้เป็น Time zone บ้านเราด้วยนะครับ) โดยมุมที่จะเห็นช้างก็จะอยู่ที่ มุมเงย (Altitude) 11 องศา และมุมอะซิมุท (Azimuth) ที่ 231 องศานะครับ


ภาพที่ 3 มุมเงย (Altitude) และมุมอะซิมุท (Azimuth)

เมื่อข้อมูลพร้อมแล้ว ก็จงอย่าลืมจัดกระเป๋าออกเดินทาง เตรียมเสื้อกันหนาว กล้องพร้อมขาตั้ง เครื่องดื่ม (กาแฟ!) และเพลงใน Playlist ให้พร้อม สำหรับการรอคอยที่จะพบกับเหล่าช้างด้วยสายตาตนเองนะครับ อย่างไรก็ตามอีกสิ่งหนึ่งที่แม้เราจะเตรียมตัวมาดีแค่ไหน แต่เราไม่สามารถควบคุมได้ก็คือเรื่องสภาพท้องฟ้าที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ก็ขอให้พกดวงติดตัวไปด้วยนะครับ และถึงจะไม่เจอก็ขอให้อย่าพึ่งหมดหวังและลองออกเดินทางต่อไปนะครับ

ขอให้ทุกคนโชคดีกับการล่าช้างนะครับ

เนื้อหาโดย นววิทย์ พงศ์อนันต์
ตรวจทานและปรับปรุงโดย นนทวิทย์ ชีวเรืองโรจน์

Navavit Ponganan

Senior Data Scientist Government Big Data Institute (GBDi)

Nontawit Cheewaruangroj, PhD

Project Manager and Senior Data Scientist at Government Big Data Institute (GBDi)

Sign up to join Big Data Community Thailand

Make comments, write articles, and contribute to our community.