Taking too long? Close loading screen.

อุตุนิยมวิทยา (Meteorology) กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลตรวจอากาศก่อนยุคแห่งบิ๊กดาต้า

Jul 29, 2022
Meteorology

หากพูดถึงบิ๊กดาต้าก็จะนึกถึงปริมาณข้อมูลที่มหาศาล ทั้งแบบที่มีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง มีอยู่ปะปนทั่วไปในการทำธุรกิจต่าง ๆ อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เป็นบิ๊กดาต้าได้อย่างแท้จริงนั้น ก็คือกระบวนการจัดการกับข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ต่างหาก และก็มีอยู่ศาสตร์หนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นบิ๊กดาต้าก่อนที่คำนี้จะถูกบัญญัติเอาไว้เสียอีก ศาสตร์นั้นก็คือ อุตุนิยมวิทยา (Meteorology)

อุตุนิยมวิทยา เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการเข้าใจปรากฏการณ์และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ ตั้งแต่การสังเกตและจดบันทึกข้อมูล ลม ฟ้า อากาศ ที่ช่วยให้เราสามารถอธิบายถึงสาเหตุและการเกิดลักษณะอากาศแบบต่าง ๆ ได้ โดยข้อมูลสภาพอากาศทั้งจากการตรวจอากาศผิวพื้น และชั้นบนในชั้นความสูงระดับต่าง ๆ ช่วยให้ได้มาซึ่งข้อมูลอุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้น ลม เมฆ และฝน เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำไปสู่การพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้า จนไปถึงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate change) อย่างไรก็ตามการพยากรณ์อากาศในบริเวณหนึ่ง ๆ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลผลการตรวจอากาศจากบริเวณที่อยู่โดยรอบมาประกอบด้วย เนื่องจาก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากพื้นที่การพยากรณ์อาจเคลื่อนตัวมามีผลต่อสภาพอากาศในบริเวณที่จะพยากรณ์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการตรวจอากาศทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอสำหรับการพยากรณ์อากาศ และช่วยให้การพยากรณ์มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ข้อความจาก กรมอุตุนิยมวิทยา

ทั้งนี้สมาชิกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้ใช้การพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข (Numerical Weather Prediction: NWP) เป็นเครื่องมือหลักในการพยากรณ์อากาศ และคาดหมายสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยากรณ์ในระยะปานกลาง และระยะไกล จากการศึกษาของ WMO พบว่าการคาดหมายลักษณะอากาศที่แม่นยำในระยะเวลาที่เกินกว่า 2-4 วันขึ้นไป จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลการตรวจอากาศจากทั่วทุกมุมโลก ดังแสดงในภาพที่ 1 (ภาพจาก WMO)

ภาพที่ 1 ผลการพยากรณ์ที่แม่นยำที่ครอบคลุมระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น จะต้องการข้อมูลจากพื้นที่ที่ต้องมีการตรวจอากาศที่กว้างขึ้น

ด้วยเหตุนี้เององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) จึงได้จัดตั้งโครงการตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศทั่วโลก (World Weather Watch: WWW) ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 โดยแต่ละประเทศสมาชิกจะรับผิดชอบในพื้นที่ของตน และมีวัตถุประสงค์เพื่อการรวบรวม แลกเปลี่ยน และการประมวลผลการสังเกตสภาพอากาศ ข้อมูลโครงการ WWW จาก WMO ทั้งนี้ยังกำหนดมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยาโลก (Global Telecommunication System:  GTS) เพื่อให้ข้อมูลมีความครบถ้วน ถูกต้อง และทันเวลา โดยกำหนดมาตรฐานของข้อความที่เข้ารหัสเพื่อใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุตุนิยมวิทยาระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วย 1) ข้อมูลการสังเกตการณ์ที่จัดทำโดยระบบสังเกตการณ์ทั่วโลกของ World Weather Watch (WWW) และ 2) ข้อมูลที่ได้รับการประมวลผลโดย WWW Global Data-Processing and Forecasting System หรือ การพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข (NWP) นั่นเอง เครือข่าย GTS นี้เป็นเครือข่ายสำคัญที่ใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานอุตุนิยมวิทยา และในงานบริการเฉพาะด้านของอุตุนิยมวิทยาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เช่น การเดินเรือ การเดินอากาศ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาได้รับผิดชอบเป็นศูนย์โทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยาระดับภูมิภาค (Regional Telecommunication Hub: RTH) ผ่านเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยาโลก (GTS) ประจำภูมิภาคที่ 2 (เอเชีย) ภายใต้ชื่อ RTH Bangkok หรือ ศูนย์โทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย WMO ได้แบ่งภูมิภาคตามภูมิศาสตร์ออกเป็น 6 ภูมิภาค ดังแสดงในภาพที่ 2 และ 3

GTS
ภาพที่ 2 ภาพรวมของเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยาโลก (GTS) ในภูมิภาคต่าง ๆ (ภาพจาก JMA)
Reginal Meteorological
ภาพที่ 3 เครือข่ายการเชื่อมต่อของศูนย์โทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยาในภูมิภาคที่ 2 (เอเชีย) (ภาพจาก JMA)

ปัจจุบัน WMO อยู่ในระหว่างดำเนินการการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยาโลก (GTS) ให้มีความทันสมัย และตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วน โดยมีแนวคิดการออกแบบเครือข่ายสื่อสารที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต มีมาตรฐานที่สะดวกต่อการใช้งาน รวมถึงเปิดกว้างต่อการเข้าถึงข้อมูลอุตุนิยมวิทยาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไป เครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยาโลกอันใหม่นี้มีชื่อเรียกว่า WIS 2.0 (WMO Information System 2.0) โดยมีกำหนดเริ่มทดลองใช้งานสำหรับประเทศที่มีความพร้อมในปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป และมีกำหนดใช้งานจริงทั่วโลกในปี พ.ศ. 2573 ดังแสดงในแผนการดำเนินการโครงการ WIS 2.0 ในภาพที่ 4

WIS
ภาพที่ 4 แผนการดำเนินการโครงการ WIS 2.0

แล้วข้อมูลที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนมันเป็นอย่างไร ?

สำหรับข้อมูลที่เข้ารหัสเพื่อใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุตุนิยมวิทยา สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์โทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคู่มือ Manual on Codes ของ WMO โดยรายการข้อมูลและสารสนเทศอุตุนิยมวิทยา ที่ทำการแลกเปลี่ยนใน GTS จะมีหลายประเภท โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ

  1. ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ และการเตือนภัย จากศูนย์ต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค และระดับโลก
  2. ข้อมูลผลการพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข หรือผลการพยากรณ์จากแบบจำลองต่าง ๆ
  3. ข้อมูลตรวจอากาศ

ในส่วนของข้อมูลการพยากรณ์อากาศ และการเตือนภัยนั้นโดยทั่วไปจะอยู่ในรูปตัวอักษร (text) ตามปกติที่สามารถอ่านและเข้าใจได้โดยตรง ส่วนกลุ่มข้อมูลที่เหลืออีกสองประเภทจะต้องมีการเข้ารหัสและถอดรหัสข้อมูลก่อนนำไปแลกเปลี่ยนและใช้งาน กล่าวคือข้อมูลผลการพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลขซึ่งจะอยู่ในรูปแบบรหัส GRIB (General Regularly-distributed Information in Binary form) และข้อมูลตรวจอากาศ ซึ่งเดิมจะอยู่ในรูปแบบ TAC (Traditional Alphanumeric Code) ต่อมาภายหลัง WMO ได้หยุดพัฒนารูปแบบข้อมูลแบบ TAC และแนะนำให้ประเทศสมาชิกไปใช้รหัสข้อมูลตรวจอากาศในรูปแบบ TDCF (Table Driven Code Form) แทน โดยมีแผนแสดงกำหนดการการโยกย้ายการใช้งานรูปแบบข้อมูลเป็นไปตามภาพที่ 5 อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีหลายประเทศยังไม่มีความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนผ่านนี้โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ทำให้หลายประเทศยังมีความต้องการใช้งานข้อมูลตรวจอากาศในรูปแบบ TAC อยู่ โดยในส่วนของประเทศไทยได้มีการใช้งานข้อมูลในรูปแบบทั้ง TAC และTDCF เพื่อให้บริการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

Migration matrix
  ภาพที่ 5 ตารางแสดงกำหนดการเปลี่ยนผ่านข้อมูลในรูปแบบ TAC ไปเป็น TDCF

ตัวอย่างและความหมายของข้อมูลชนิดต่าง ๆ

  • SYNOP (Surface Synoptic Observations): ข้อมูลตรวจสภาพของอากาศบริเวณผิวพื้น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นการตรวจวัดบนภาคพื้นดิน และภาคพื้นทะเล
  • TEMP: ข้อมูลตรวจอากาศชั้นบนเป็นข้อมูลจากการรายงานสภาพอากาศของอากาศชั้นบนซึ่งจะประกอบไปด้วยข้อมูลความกดอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น ทิศทาง และความเร็วลม
  • PILOT: ข้อมูลตรวจลมชั้นบนเป็นข้อมูลจากการรายงานสภาพอากาศของลมชั้นบนซึ่งจะประกอบไปด้วยข้อมูลทิศทาง และความเร็วลม
  • BATHY: ข้อมูลจากการรายงานสถานะอุณหภูมิของน้ำที่ระดับความลึกต่าง ๆ ซึ่งอาจรวมถึงกระสน้ำบริเวณพื้นผิวน้ำ และระดับความลึกรวมของน้ำ
  • TESAC: ข้อมูลจากการรายงานสถานะอุณหภูมิ และความเค็มของน้ำที่ระดับความลึกต่าง ๆ ซึ่งอาจรวมถึงกระแสน้ำที่ระดับความลึกต่าง ๆ
  • และอื่น ๆ

ในที่นี้จะขอเอาข้อมูลของ SYNOP ซึ่งจะใช้แบบฟอร์มรหัสมาตรฐาน FM 12–XIV Ext. SYNOP ในรูปแบบ TAC มาทำการอธิบายเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยรูปแบบการเข้ารหัสจะเป็นตามมาตรฐานดังภาพที่ 6 (สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ คู่มือ Manual on Codes ของ WMO) ซึ่งเราคงไม่สามารถอธิบายได้ภายในบทความนี้นะครับ

SYNOP
ภาพที่ 6 มาตรฐานการเข้ารหัสข้อมูลสำหรับ FM 12–XIV Ext. SYNOP

โดยข้อมูลที่ SYNOP ที่ได้จากเว็บไซต์ของศูนย์โทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะแสดงดังภาพ

SYNOP
ภาพที่ 7 ตัวอย่างข้อมูล SYNOP จากเว็บไซต์ของศูนย์โทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2022)

จากภาพที่ เราลองทำการแปลความหมายของข้อมูลที่อยู่ในกรอบสีแดงจะได้ดังภาพที่ 8

SYNOP
ภาพที่ 8 ผลของการตีความหมายตัวอย่างข้อมูล SYNOP

เทคโนโลยีบิ๊กดาต้ากับการพยากรณ์อากาศ

มาถึงตรงนี้คิดว่าผู้อ่านทุกคนก็คงน่าจะรู้สึกทึ่งเหมือนกันกับผมถึงกระบวนการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่ถูกใช้มาอย่างยาวนาน แต่ยังคงมีประสิทธิภาพและใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน และถ้าหากข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลและถูกเก็บมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานอย่างข้อมูลสภาพอากาศ ในขณะที่การพัฒนาในเรื่องบิ๊กดาต้าก็ทำให้มีเครื่องมือที่ทันสมัยและทรงพลังที่จะนำไปสู่การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำและมีความละเอียดมากยิ่งขึ้น แต่จะเพียงพอต่อความคาดหวังมหาศาลของผู้ใช้งานได้หรือไม่นั้นก็คงต้องให้เวลาเป็นผู้ตอบต่อไปนะครับ

เนื้อหาโดย นววิทย์ พงศ์อนันต์ และวันเฉลิม เพ็ชรสุวรรณ
ตรวจทานและปรับปรุงโดย พีรดล สามะศิริ

อ้างอิง

Navavit Ponganan

Senior Data Scientist Government Big Data Institute (GBDi)

Peeradon Samasiri, PhD

Project Manager and Senior Data Scientist at Government Big Data Institute (GBDi)

Sign up to join Big Data Community Thailand

Make comments, write articles, and contribute to our community.