Taking too long? Close loading screen.

COVID-19 กับการเปลี่ยนแปลงไนโตรเจนไดออกไซด์ในไทย

Jun 18, 2020

จากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ส่งผลให้หลายประเทศได้ออกมาตรการให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 โดยการขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้าน ลดการเดินทาง และขอให้ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) เป็นต้น

เมื่อการคมนาคมน้อยลง อุตสาหกรรมหลาย ๆ แห่งจำเป็นที่จะต้องหยุดลง ส่งผลให้ก๊าซในชั้นบรรยากาศที่เกิดมาจากมนุษย์ (Anthropogenic Emissions) มีค่าลดลงอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ประเทศ รวมไปถึงประเทศไทยด้วย

รูปที่ 1 ภาพแสดงการจราจรที่ติดขัดน้อยลง เนื่องจากนโยบาย Work From Home

โดยในครั้งนี้เราจะมาลองทำการสำรวจปริมาณก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen Dioxide; NO2) ที่เปลี่ยนแปลงในประเทศไทยโดยใช้ข้อมูล Big Data ที่ได้มาจากเซนเซอร์ที่ชื่อว่า TROPOMI (Tropospheric Monitoring Instrument) บนดาวเทียม Sentinel-5P

ทำไมต้องก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen Dioxide; NO2)

NO2 เป็นก๊าซที่มีอยู่ในธรรมชาติ สามารถเกิดขึ้นเองได้จากปรากฏการณ์ เช่น ฟ้าแล่บ ฟ้าผ่า หรือภูเขาไฟระเบิด แต่อย่างไรก็ตามก็นับว่าเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับส่วนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ดังนั้น รถยนต์ และอุตสาหกรรมจึงเป็นแหล่งหลักที่ทำให้เกิดก๊าซชนิดนี้

ผลกระทบ NO2 ที่ความเข้มข้นสูงสามารถปฏิกิริยากับไอน้ำและออกซิเจนเกิดเป็นกรดไนตริก (Nitric Acid: HNO3) ปนเปื้อนอยู่ในน้ำฝนหรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ฝนกรด (Acid rain) ฝนกรดจะละลายปุ๋ยในดิน ทำให้พืชเติบโตช้า เมื่อไหลลงแหล่งน้ำ ก็จะทำให้แหล่งน้ำนั้น ๆ ไม่เอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ หรือแม้แต่ในเมืองเอง ฝนกรดก็ก่อให้เกิดการสึกกร่อนของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ หรืออาจจะจับตัวรวมกับหมอกก่อให้เกิดหมอกควันพิษ (Smog) ที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและจะส่งผลรุนแรงขึ้นกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด จนอาจรุนแรงถึงชีวิตได้

ระดับ NO2 ทั่วประเทศไทย

ผลการวิเคราะห์ระดับ NO2 เบื้องต้นจากข้อมูลภาพดาวเทียมในปี 2019 ของประเทศไทย พบว่าบริเวณที่มีความเข้มข้นของ NO2 สูงที่สุด จะอยู่ในเขตเมืองกรุงเทพและปริมณฑล รองลงมาจะเป็นบริเวณโรงงานปูนซีเมนต์ จังหวัดสระบุรี โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ดังที่แสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2 ระดับ NO2 ทั่วประเทศไทยปี 2019
(จัดทำโดยผู้เขียน)

ภาพรวมปริมาณ NO2 ของประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล จะมีการปล่อยออกมามากที่สุดในช่วง มีนาคม – เมษายน และตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – ตุลาคม จะมีแนวโน้มลดลง อาจเนื่องมาจากได้น้ำฝนเข้ามาเจือจางความเข้มข้นของ NO2 ในอากาศ ก่อนจะเพิ่มขึ้นจนถึงสูงที่สุดอีกครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ดังที่แสดงในรูปที่ 3

รูปที่ 3 ค่าเฉลี่ยปริมาณ NO2 ที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของประเทศไทย
(จัดทำโดยผู้เขียน)

กรุงเทพและปริมณฑล

รูปที่ 4 ปริมาณ NO2 ในเขตเมืองกรุงเทพและปริมณฑล (ม.ค. – เม.ย. 2563)
(จัดทำโดยผู้เขียน)

จากรูปที่ 4 ปริมาณ NO2 ในเขตเมืองกรุงเทพและปริมณฑลนั้น แน่นอนว่าสาเหตุหลักมาจากมลพิษจากการคมนาคมขนส่ง จากภาพจะเห็นได้ว่าปริมาณ NO2 มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จากเดือนมกราคมอันเนื่องมากจาก การเดินทางกลับภูมิลำเนา และลดการเดินทางออกจากบ้านของประชาชน ภายหลังจากการประกาศใช้มาตรการให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม

โรงงานปูนซีเมนต์ จังหวัดสระบุรี

รูปที่ 5 ปริมาณ NO2 โรงงานปูนซีเมนต์ จังหวัดสระบุรี (ม.ค. – เม.ย. 2563)
(จัดทำโดยผู้เขียน)

การสกัดหินแร่เผื่อนำมาใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ เป็นสาเหตุกิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซ NO2 ในบริเวณนี้จากภาพถ่ายดาวเทียมเราจะสังเกตได้ว่า ปริมาณ NO2 มีการลดลงในเดือน มีนาคม ดังรูปที่ 5 อันเนื่องมาจากการลดกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของโรงงานปูน

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

รูปที่ 6 ปริมาณ NO2 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง (ม.ค. – เม.ย. 2563)
(จัดทำโดยผู้เขียน)

อุตสาหกรรมเคมี เป็นอีกกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดก๊าซ NO2 ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหรรมมาบตราพุด จากภาพถ่ายดาวเทียมเราจะสังเกตได้ว่า ปริมาณ NO2 มีการลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังรูปที่ 6 อันเนื่องมาจากการลดกำลังการผลิตลงของโรงงานภายในนิคม

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

รูปที่ 7 ปริมาณ NO2 โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง (ม.ค. – เม.ย. 2563)
(จัดทำโดยผู้เขียน)

ส่วนปริมาณ NO2 ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้น มีการลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ และกลับมามีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ในเดือนมีนาคม ดังรูปที่ 7 ซึ่งอาจหมายถึงไม่มีการลดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในระหว่างที่เกิดวิกฤตการโรคโควิด-19

นี่เป็นเพียงประโยชน์หนึ่งในการใช้ข้อมูล Big Data จากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อติดตามผลกระทบทางอ้อมของวิกฤตการโรค COVID-19 ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ในช่วงที่เกิดการ Lockdown ประเทศ

อย่างไรก็ดี COVID-19 ทำให้เรามีโอกาสที่จะเห็นผลกระทบในเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา แต่ก็คงเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ชั่วคราว จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เราควรจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ซึ่งเราสามารถทำได้โดย การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน ระบบขนส่งมวลชน และที่สำคัญที่สุดคือ การแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยพลังงานหมุนเวียนและแหล่งคาร์บอนต่ำอื่น ๆ โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้อย่างแน่นอน

ข้อมูลบางส่วนจาก บทความของ Chottiwatt Jittprasong


Navavit Ponganan

Senior Data Scientist Government Big Data Institute (GBDi)

Sign up to join Big Data Community Thailand

Make comments, write articles, and contribute to our community.