Taking too long? Close loading screen.

ความท้าทายในงานจดหมายเหตุเมื่อเข้าสู่ยุค Big Data: ตอนที่ 1 ความหมายของจดหมายเหตุ (Archives)

Sep 6, 2023
Archive Shelfs at Sächsisches Staatsarchiv in Dresden, Saxony, Germany

ความท้าทายงานจดหมายเหตุเมื่อเข้าสู่ยุค Big Data
ตอนที่ 1. ความหมายของจดหมายเหตุ (ท่านกำลังอ่านบทความนี้)
ตอนที่ 2. การทำให้เป็นดิจิทัลของเอกสารจดหมายเหตุ
ตอนที่ 3. การใช้ประโยชน์ข้อมูลงานจดหมายเหตุ


เมื่อพูดถึงการวิเคราะห์หรือบรรยายเหตุการณ์ ตัวตน และสภาพการณ์ของสิ่ง ๆ หนึ่ง สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ข้อมูลในอดีตหรือข้อมูลทางประวัติศาสตร์ (Historical Data) โดยมีประโยชน์ที่เห็นได้ในเชิงประจักษ์ดังนี้

  1. นักประวัติศาสตร์สามารถค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหัวข้อเฉพาะ เพื่อที่จะให้ข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์กับองค์ประธาน (Subject) ของเรื่องที่เล่านั้น ๆ ได้ ทำให้เราสามารถเห็นตัวตนขององค์ประธานนั้นว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรภายใต้มุมมองหนึ่ง ๆ
  2. กลุ่มคนชายขอบในทางรัฐศาสตร์ที่อาจไม่ได้รับความยุติธรรมในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต สามารถนำข้อมูลในอดีตที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน และสะสางคดีในอดีต เช่น การชำระคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดงที่มีการตั้งศาลคดีเขมรแดงและนำหลักฐานพยานในคดีมาชำระใหม่อีกครั้ง
  3. ธุรกิจหนึ่ง ๆ ที่ต้องการทำ SWOT หรือ PESTEL Analysis เพื่อดูสถานการณ์ของธุรกิจและวางแผนธุรกิจอย่างมียุทธศาสตร์ การใช้ข้อมูลในอดีตขององค์กรเพื่อการวิเคราะห์มีส่วนช่วยในการวิเคราะห์สภาพการณ์ทางธุรกิจได้โดยพึ่งประสบการณ์ทางธุรกิจของปัจเจกบุคคลลดลง และใช้ข้อมูลที่ปรากฏในคลังเอกสารเก็บถาวรที่สะท้อนจากความเป็นจริงจากการปฏิบัติงาน ณ ขณะนั้นเป็นส่วนในการตัดสินใจเป็นการทดแทน (ดูตัวอย่างเพิ่มเติมได้ที่การพัฒนา Business Intelligence ด้วยธรรมาภิบาลข้อมูล)

ทั้งสามตัวอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งสำคัญมาก คือ ข้อมูลเหล่านั้นต้องสะท้อนถึงความเป็นจริง (Integrity) โดยสิ่งนี้ย่อมควรถูกจัดการตั้งแต่กระบวนการที่วางไว้ในการปฏิบัติงานในตอนต้น ซึ่งหนึ่งในโครงสร้างที่สามารถช่วยเรื่องได้ คือ ธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) โดยในภาพรวมนั้นเป็นไปตามภาพประกอบนี้

data governance framework emphasis on archiving and destruction
ภาพที่ 1 Data Governance Framework โดยกรอบสีส้ม คือ สิ่งที่จะกล่าวถึงในบทความนี้

โดยในบทความนี้เราจะกล่าวถึง Archive และ Destroy เป็นหลัก หากต้องการรายละเอียดเต็มที่เกี่ยวข้องกับ Data Governance สามารถรับชมได้ที่นี่

หนึ่งในกระบวนการที่จะขาดไม่ได้ หากต้องการทำให้ธรรมาภิบาลข้อมูลสามารถใช้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นหัวข้อที่จะอภิปรายในบทความนี้ คือ กระบวนการจัดเก็บข้อมูลถาวร และ กระบวนการทำลายข้อมูล

บทความนี้จะพาไปศึกษานิยามและลักษณะตัวตนของงานจดหมายเหตุ ก่อนที่จะเริ่มความท้าทายในงานจดหมายเหตุในปัจจุบัน

นิยามของงาน “จดหมายเหตุ” (Archives)

อ้างอิงจากภาษาอังกฤษ คำว่า “จดหมายเหตุ” จะสามารถเทียบเคียงได้กับคำว่า “Archives” โดยคำว่า Archives สามารถแปลได้ทั้งสิ้น 3 ความหมายดังนี้1

  • Archives ในมุมมองของ Archival Material หรือ “เอกสารจดหมายเหตุ” หมายถึง เอกสารซึ่งเกิดจากการปฏิบัติงานของบุคคลหรือนิติบุคคลโดยเอกสารเหล่านั้นได้สิ้นกระแสการใช้งานแล้ว และได้รับการประเมินว่ามีคุณค่าอย่างต่อเนื่องต่อผู้ครอบครอง2 ซึ่งกระบวนการที่เกิดขึ้นสามารถตีความได้ตามภาพที่ 2
ภาพที่ 2 กระบวนการที่สำคัญกระบวนการหนึ่งในการทำจัดเก็บเอกสารถาวร คือ การประเมินคุณค่าของเอกสารที่จะถูกนำไปจัดเก็บถาวรเป็นเอกสารจดหมายเหตุ โดยหลักวิธีพิจารณาคุณค่าของเอกสารนั้นอาจอาศัยพันธกิจหรือวัตถุประสงค์ขององค์กรในการประเมินคุณค่าของเอกสารนั้น ๆ ได้
  • Archives ในมุมมองของ Archival Agency ซึ่งหมายถึงหน่วยงานที่จัดการเก็บ “เอกสารจดหมายเหตุ” ตามนิยามแรก โดยยกตัวอย่างเช่น สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) หรือองค์กรอื่น ๆ ตามภาพที่ 3
ภาพที่ 3 ตัวอย่าง Archival agencies — (บน) National Archives ของสหรัฐอเมริกา, The National Archives ของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
(ล่าง) สำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), และ Das Bundesarchiv (The National Archives) ของเยอรมนี
  • Archives ในมุมมองของ Archival Repository ซึ่งหมายถึงบริเวณหรือสถานที่ที่จัดเก็บเอกสารจดหมายเหตุ โดยยกตัวอย่างเป็นไปตามภาพที่ 4
ภาพที่ 4 ตัวอย่าง Archival Repositories:
(บนซ้าย) ประเทศสหรัฐอเมริกา (บนขวา) ประเทศสหราชอาณาจักรฯ
(ล่างซ้าย) ประเทศไทย (ล่างขวา) ประเทศเยอรมนี

หลักเกณฑ์ในการจำแนกเอกสารจดหมายเหตุ

ตามนิยามของ “เอกสารจดหมายเหตุ” ของปัจเจกหนึ่ง ๆ เราสามารถพิจารณาได้โดยสององค์ประกอบหลัก คือ

  1. เป็นเอกสารจากการปฏิบัติงาน สามารถระบุยืนยันประวัติศาสตร์ของปัจเจกนั้นได้
  2. ไม่อยู่ในกระแสการใช้งาน

ตัวอย่างการระบุว่าใช่หรือไม่ใช่เอกสารจดหมายเหตุเป็นไปตามภาพที่ 5

ภาพที่ 5 ตัวอย่างการจัดจำแนก “เอกสารจดหมายเหตุ”
เหตุผลที่เอกสารแต่ละชนิดเป็นจดหมายเหตุ โดยปกติแล้วจะนับว่าเป็น เพราะเอกสารนั้นเป็นเอกสารจากการปฏิบัติงานและสิ้นกระแสการใช้งาน
  • ศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นจดหมายเหตุ เพราะไม่อยู่ในกระแสการใช้งานตามกฎหมาย และมาจากการปฏิบัติงานของราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์
  • ประมวลกฎหมายตราสามดวง เป็นจดหมายเหตุ เพราะไม่อยู่ในกระแสการใช้งาน นับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 และมาจากการปฏิบัติงานในราชวงศ์จักรี ซึ่งชำระกฎหมายเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1
  • เว็บไซต์ที่เก็บไว้ใน Wayback machine เป็นจดหมายเหตุได้ เพราะไม่อยู่ในกระแสการใช้งาน อันหมายถึงเจ้าของได้สละเว็บไซต์นี้ออกจากการใช้งานของเจ้าของเว็บนั้น ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นเอกสารจากการปฏิบัติงาน
  • ใบเสร็จรับเงิน เป็นจดหมายเหตุได้ เมื่อจบจากโครงการที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายนั้น ๆ จะนับว่าสิ้นสุดกระแสการใช้งาน
เหตุผลที่เอกสารแต่ละชนิดไม่เป็นจดหมายเหตุ โดยสาเหตุหลัก คือ ยังอยู่ในกระแสการใช้งาน หรือ ไม่เป็นเอกสารจากการปฏิบัติงาน
  • หนังสือกฎหมายสมรสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ความเรียงกฎหมายเปรียบเทียบในอินโดจีน (Régimes Matrimoniaux du Sud-Est de L’Asie: Essai de droit comparé indochinois) ไม่เป็นจดหมายเหตุ เนื่องจากไม่ได้เป็นเอกสารจากการปฏิบัติงาน แต่เป็นเอกสารเผยแพร่ซึ่งมีวิธีการจัดการแบบหนังสือ ไม่มีการสิ้นสุดกระแสการใช้งาน
  • ซอฟต์แวร์และไลบรารี ไม่เป็นจดหมายเหตุ เพราะเป็นชุดคำสั่งเผยแพร่ ไม่ได้สะท้อนการปฏิบัติงานในองค์กร

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเอกสารจดหมายเหตุ

  1. ซอฟต์แวร์กับไลบรารีไม่ใช่ “เอกสารจดหมายเหตุ” แต่หากว่าพูดถึง Working Repository ในระบบ Git ที่ถูกจัดเก็บถาวรเรียบร้อยแล้ว สามารถเป็น “เอกสารจดหมายเหตุ” ได้ เพราะ Repository นั้นสะท้อนการปฏิบัติงานของผู้จัดทำซอฟต์แวร์นั้น ๆ เช่น ประวัติการ Commit, Branch หรือ Change Log
  2. สมุดจดบันทึก ราชกิจจานุเบกษา แบบแสดงความคิดเห็นผลงาน, หรือ คำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 สามารถเป็น “เอกสารจดหมายเหตุ” ได้ทั้งสิ้นเมื่อสิ้นกระแสการใช้งาน
  3. สิ่งที่ไม่ใช่จดหมายเหตุนั้นไม่จำเป็นจะต้องถูกทำลายทิ้งเสมอไป โดยสิ่งที่สามารถเทียบเคียงได้กับ “หอจดหมายเหตุ” (Archival Repository) คือ หอสมุด เช่น หนังสือเก่าจะถูกจัดเก็บอยู่ในหอสมุด โดยมีวิธีการจัดการอีกรูปแบบหนึ่งต่างจากวิธีจัดการจดหมายเหตุ ยกตัวอย่างเช่น การจัดแบ่งหนังสือตามระบบของหอสมุดคองเกรส (Library of Congress Classification), การจัดแบ่งหนังสือตามหลักของดิวอี้ (Dewey Decimal Classification), มาตรฐาน CoreTrustSeal สำหรับการจัดการสารสนเทศดิจิทัล, หรือ พิพิธภัณฑ์ของเก่าหายาก

เมื่อกล่าวถึงปัจจุบันกาลแล้ว เทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลหรือรูปแบบข้อมูลที่สามารถจัดเก็บได้มีความหลากหลายยิ่งขึ้นนอกจากข้อมูลในอดีตที่อยู่ในรูปแบบหนังสือลายลักษณ์ (Manuscript) หรือเอกสารภาพ รวมทั้งเทคโนโลยีในการประมวลผลที่มีความสามารถในการวิเคราะห์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยี Data Analytics ที่เป็นกระแสเรื่อยมาตลอด 10 ปี ทำให้การทำงานจดหมายเหตุให้มีประสิทธิภาพในยุคปัจจุบันจึงมีความท้าทายมากขึ้นอีกด้วย โดยความท้าทายในงานจดหมายเหตุนั้นจะกล่าวถึงต่อไปในตอนที่ 2


เชิงอรรถ

  1. กรมศิลปากร (2542), วิชาการพื้นฐานการบริหารและจัดการจดหมายเหตุ ↩︎
  2. สมบัติ พิกุลทอง (2563), “การประเมินความต้องการจำเป็นในการสงวนรักษาเอกสารจดหมายเหตุดิจิทัลของหน่วยงานบริการจดหมายเหตุในประเทศไทย” ↩︎

เรียบเรียงโดย กฤตพัฒน์ รัตนภูผา
ตรวจทานและปรับปรุงโดย นววิทย์ พงศ์อนันต์

Kittapat Ratanaphupha

Data Scientist, Big Data Institute (Public Organization), BDI

Navavit Ponganan

Editor-in-Chief at BigData.go.th and Senior Data Scientist at Big Data Institute (Public Organization), BDI

Sign up to join Big Data Community Thailand

Make comments, write articles, and contribute to our community.