Taking too long? Close loading screen.

ทีมบุคลากรสำหรับการธรรมาภิบาลข้อมูล

Dec 25, 2020

ว่ากันว่า “Data Governance เป็นงานของ IT” ความจริงแล้วเป็นเช่นไร?

ในปัจจุบันที่เราต้องทำงานกับข้อมูลจำนวนมากขึ้น หรือบางองค์กรมีเป้าหมายใหม่ ๆ ซึ่งมีวลีเท่ ๆ ว่า “…สู่การเป็น Data Driven Organization…” แต่คนที่ทำงานกับข้อมูลก็ยังคงประสบปัญหาคลาสสิก เช่น ข้อมูลที่ฉันต้องการอยู่ที่ไหน? ฉันรู้ เพื่อนฉันรู้ ทุกคนรู้ ว่าอยู่ในองค์กรเรานี่แหละ แต่อยู่ไหน? หรือการใช้เวลาเป็นวัน ๆ เพื่อจัดการทำความสะอาดข้อมูลให้พร้อมใช้ทำรายงานเพียง 1 หน้า ด้วยสาเหตุเหล่านี้ ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มทำ Data Governance หรือ การธรรมาภิบาลข้อมูล ซึ่งก็คือการกำกับดูแลข้อมูลให้มีความถูกต้อง มีความสมบูรณ์ มีความทันสมัย และได้มาตรฐาน

ก้าวแรกในการทำ Data Governance คือการจัดทำ Data Policy ซึ่งต้องอาศัยกลุ่มคนที่จัดตั้งขึ้นมารับผิดชอบงานนี้โดยเฉพาะ หรือที่เรียกกันว่า Data Team เราอาจเคยได้ชื่อตำแหน่งเหล่านี้ Chief Data Officer, Data Steward, Data Custodian, Data Stakeholder, Data Owner, Data Creator, System Analyst และอื่นๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสำนักที่ออกแบบ Framework ของ Data Governance แต่หากให้จัดกลุ่มคนตามบทบาทและหน้าที่แล้ว จะได้ 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ Data Committee, Data Steward, และ Data Custodian เรามาทำความรู้จักกับคนสามกลุ่มนี้กันครับ

1. Data Committee

คนกลุ่มนี้สำคัญที่สุด คณะทำงานประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงขององค์กร เช่น Chief Executive Officer, Chief Information Officer, Chief Data Officer, และ Chief Security Officer ที่จะนั่งหัวโต๊ะและฟันธงเรื่องต่าง ๆ โดยมีคนอีกกลุ่มคือ ผู้ที่ใช้ข้อมูลและมีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อมูล เช่น Data Stakeholders, Data Owners, และ Data Users ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รู้เรื่องข้อมูลดีที่สุด เพราะเป็นผู้ที่คลุกคลีกับข้อมูลมาโดยตลอดจึงทราบปัญหาและความต้องการของการใช้ข้อมูลภายในองค์กรเป็นอย่างดี

บทบาทหน้าที่สำคัญ

  1. ตัดสินใจเชิงนโยบายต่าง ๆ เช่น วิสัยทัศน์, แนวทางการทำงาน, ระเบียบข้อบังคับ, และ ลำดับความสำคัญ เป็นต้น
  2. เป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดสูงสุดในเรื่องต่าง ๆ ของการทำ Data Governance
  3. บริหารจัดการ และให้การสนับสนุน รวมถึงให้ความต้องการต่าง ๆ แก่ ทีม Data Steward และ ทีม Data Custodian

2. Data Stewards

คนกลุ่มนี้เป็นการรวมตัวของ Stakeholders หรือ Key Users จากแผนกต่าง ๆ ในองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากฝั่งธุรกิจขององค์กร และมีความเข้าใจพื้นฐานด้าน IT อยู่บ้าง คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่กำหนดและกำกับนโยบายต่างๆเกี่ยวกับข้อมูล เช่น มาตรฐาน, คุณภาพ, ความปลอดภัย, และ สิทธิการเข้าถึงข้อมูล เป็นต้น รวมถึงการเลือกโจทย์การใช้ข้อมูลที่เหมาะสม และการกำหนดชุดข้อมูลขององค์กร ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการทำงานโดยคนกลุ่มนี้ในภาพรวมคือ การทำข้อมูลในองค์กรให้มีคุณภาพ

บทบาทหน้าที่สำคัญ

  1. กำหนดและกำกับนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อมูล
  2. ติดตามการทำงาน ตรวจสอบ และรายงานผลไปยัง Data Committee
  3. ขจัดความคลุมเครือและสร้างความชัดเจนของ ความหมาย และนิยามต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อมูล
  4. เผยแพร่และบังคับใช้นโยบาย ข้อกำหนด ระเบียบและวิธีการต่าง ๆ ภายในองค์กร

3.Data Custodians

คนกลุ่มนี้คือคน IT ซึ่งจะเข้ามาเมื่อ Data Stewards กำหนดนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อมูลแล้ว บางสำนักเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Technical Data Stewards ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร สิ่งที่คนเหล่านี้ทำคือ กำกับนโยบายต่าง ๆ ด้วยระบบ IT หรือระบบสารสนเทศ เพื่อให้นโยบายของ Data Stewards ทำงานได้ในเชิงเทคนิค ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพการทำงานของคนสองกลุ่มนี้ได้ชัดเจนขึ้น Data Stewards เป็นผู้กำหนดว่าองค์กรควรมีข้อมูลอะไร ข้อมูลอะไรควรถูกเก็บลงฐานข้อมูลบ้างและใครสามารถแก้ไขได้บ้าง เมื่อกำหนดเสร็จสิ้นแล้ว Data Custodians จะเป็นผู้ออกแบบฐานข้อมูล กำหนดโครงสร้างฐานข้อมูล รวมถึงกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานแต่ละกลุ่ม

บทบาทหน้าที่สำคัญ

  1. ทำงานร่วมกับทีม Data Stewards
  2. กำกับระบบ IT ให้สอดรับนโยบายที่กำหนดโดย Data Stewards
  3. ดูแลการจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย การใช้งาน และการปกป้องคุ้มครองข้อมูลด้วยระบบ IT

Data Governance เป็นเรื่องที่คนทั้งองค์กรต้องร่วมมือกัน

ข้อมูล หรือ Data นับเป็นทรัพยากรที่มีค่าขององค์กร ทุกคนจึงต้องมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการกำกับดูแลทรัพยากรนี้ ความสนับสนุนและความใส่ใจของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้การทำ Data Governance ในองค์กรประสบความสำเร็จ และเมื่อมีนโยบายและข้อกำหนดด้านข้อมูลแล้ว ทุกคนในองค์กรก็ควรถือปฎิบัติอย่างเคร่งครัด สุดท้ายนี้เราคงตอบได้แล้วว่าคำเล่าลือที่ว่า “Data Governance เป็นงานของ IT” นั้น สรุปแล้วจริงหรือไม่


References

  1. รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล, 2020, “Data Governance [ตอนที่ 1] – กรอบธรรมาภิบาลข้อมูล” ,https://www.youtube.com/watch?v=2DgVIaiC87w
  2. รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล, 2020, “Data Governance [ตอนที่ 3] – การให้บริการข้อมูลและการกำกับดูแลข้อมูล” ,https://www.youtube.com/watch?v=cTvnbM0nKsU
  3. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, 2563, “Data Governance Framework กรอบการกำกับดูแลข้อมูล เวอร์ชัน 1.0
  4. Data steward, https://en.wikipedia.org/wiki/Data_steward
  5. Data custodian, https://en.wikipedia.org/wiki/Data_custodian

Photos

  1. Photo by Austin Distel on Unsplash
  2. Photo by Christina @ wocintechchat.com on Unsplash
  3. Photo by Hannah Busing on Unsplash

Saksit Srimarong

Data Scientist Government Big Data Institute (GBDi)

Sign up to join Big Data Community Thailand

Make comments, write articles, and contribute to our community.