การใช้ Data ในการวางแผนฉีดวัคซีนโควิด-19
วัคซีน…คือทางออก เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดครั้งยิ่งใหญ่ของโรค โควิด-19 ไปทั่วประเทศไทย มาตรการใช้อาวุธ และสร้างเกราะป้องกัน คือ เว้นระยะห่าง สวมใส่แมสก์ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ ตลอดเวลากว่าหนึ่งปี ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อการจะเอาชนะสงครามไวรัสนี้ได้ วัคซีน …คือทางออกที่สำคัญยิ่ง และต้องเร่งฉีดให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยทั้งประเทศ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เป็นจุดเริ่มต้นที่เป็น “ศูนย์กลาง” ของ “ความหวัง” และ “ความร่วมมือ” เพื่อให้คนไทยปลอดภัยแข็งแรง นำพาพี่น้องคนไทยได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ คืนอ้อมกอดอันอบอุ่นให้กับทุกครอบครัวและนำประเทศไทยให้ก้าวต่อไปสู่อนาคตที่มั่นคง เตรียมการแค่ 3 วัน ระดมทุกข้อมูล ขุดประสบการณ์เก่า ใช้งานทุกตัวเลข ช่วงที่มีแนวคิดจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อนั้น หน่วยงานอื่น ๆ ของกรมการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีภาระในการรักษาผู้ป่วยเกือบทั้งหมดแล้ว หน่วยงานที่ยังพอมีกำลังคนก็จะมีเพียงสถาบันโรคผิวหนัง สถาบันทันตกรรม สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ด้วยเหตุนี้ ทางผู้บริหารจึงได้มอบหมายให้สถาบันโรคผิวหนังเข้ามารับผิดชอบการดำเนินงานของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ทีมงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มลงไปสำรวจสถานที่จริงในวันที่ 21 พ.ค. 2564 เพื่อพิจารณาว่าจะสามารถตั้งจุดลงทะเบียน จุดฉีดวัคซีนได้กี่จุด ต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่ ต้องเตรียม Facility รองรับอย่างไร จากนั้นจึงกลับมาทำการบ้าน และวางแผน …